ภาพ: My Country |
ในปี 1392 ช่วงที่ราชวงศ์โครยอใกล้ถึงคราวล่มสลาย อีบังวอนสร้างผลงานด้วยการเป็นกำลังหลักในการปราบปรามผู้ภักดีต่อราชวงศ์โครยอและช่วยให้ "นายพลอีซองกเย" ผู้เป็นบิดาสามารถปราบดาภิเษกเป็น "พระเจ้าแทโจ" ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โชซอน ส่วนอีบังวอนได้รับพระยศ "เจ้าชายจองอัน" (Prince Jeong Ahn: 정안대군) ผลงานที่ยิ่งใหญ่ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งราชวงศ์ทำให้ใครๆต่างพากันคิดว่าอีบังวอนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาท แต่เหตุการณ์กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น...
เท้าความกลับไปช่วงที่พระเจ้าแทโจยังเป็นนายพล ท่านมีภรรยาเป็นสตรีจากตระกูลฮันและมีลูกชายหกคนโดยหนึ่งในนั้นคือ อีบังวอน แม้นางจะเสียชีวิตก่อนปราบดาภิเษกแต่พระเจ้าแทโจก็สถาปนาพระราชอิสริยยศนางเป็น "ราชินีชินอึย" (Queen Sinui: 신의왕후) พระอัครมเหสีพระองค์แรกแห่งราชวงศ์โชซอน ต่อมาพระเจ้าแทโจอภิเษกใหม่กับสนมคนโปรดจากตระกูลคังสถาปนายศ "พระมเหสีชินด็อก" มีโอรส 2 องค์ คือ "อีบังบอน" (Yi Bang-Beon) และ "อีบังซอก" (Yi Bang-Seok) โดยอีบังวอนกับมเหสีชินด็อกกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมาที่ต่างฝ่างต่างหาโอกาสในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามให้พ้นเส้นทาง
อีบังวอนเป็นผู้มีความสามารถโดดเด่นที่สุดในบรรดาองค์ชายทั้งแปด แต่เขาก็อาจจะกลายเป็นภัยใกล้ตัวได้เช่นกัน พระเจ้าแทโจตระหนักถึงความสำคัญในข้อนี้จึงตัดสินใจเลือก "อีบังซอก" โอรสองค์เล็กของพระนางชินด็อกเป็นรัชทายาทโดยมี "ชองโดจอน" อัครมหาเสนาบดีคนสนิทที่ไว้วางพระทัยที่สุดเป็นผู้สนับสนุน เรื่องนี้สร้างความผิดหวังอย่างรุนแรงแก่บรรดาโอรสของพระนางซินอึยเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอีบังวอน ความเจ็บช้ำน้ำใจที่ได้รับในครั้งนี้กลายเป็นชนวนเหตุนำพาไปสู่เหตุการณ์นองเลือดของพี่น้องร่วมสายโลหิต
ภายหลังพระนางชินด็อกจากไปอย่างกะทันหัน เกิดข่าวลือว่าพระเจ้าแทโจจะยกย่องโอรสที่เกิดจากพระนางชินด็อกให้มีสถานะเหนือกว่าโอรสที่เกิดจากพระนางซึนอึย อีบังวอนไม่รอช้าใช้โอกาสนี้สังหาร "อีบังบอน" และ "อีบังซอก" โอรสทั้งสองของพระนางชินด็อก รวมทั้งสังหารอัครมหาเสนาบดีชองโดจอนที่คอยให้การสนับสนุนพระนางชินด็อกใน "เหตุการณ์จลาจลขององค์ชายครั้งที่หนึ่ง" (제1차 왕자의 난)
เมื่ออีบังซอกถูกสังหารตำแหน่งรัชทายาทจึงว่างลง อีบังวอนสถาปนา "อีบังกวา" (Yi Bang-gwa: 이방과) ผู้เป็นพี่ชายคนรองขึ้นเป็นรัชทายาท พระเจ้าแทโจรู้สึกเศร้าพระทัยที่เห็นพี่น้องต้องเข่นฆ่ากันเองจึงสละราชบัลลังก์ดำรงพระยศ "แทซังวัง" (กษัตริย์ที่สละหรือถูกปลดลงจากบัลลังก์) อีบังกวาซึ่งเป็นรัชทายาทจึงขึ้นครองบัลลังก์เป็นพระราชาลำดับที่สองแห่งราชวงศ์โชซอนพระนามว่า "พระเจ้าจองจง" (Jeongjong of Joseon: 정종)
ในปี 1400 "อีบังกัน" (Yi Bang-Gan: 이방간) พี่ชายคนที่สี่ของอีบังวอนก่อการกบฏหวังยึดอำนาจแต่อีบังวอนที่ดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีนำกำลังเข้าปราบปรามใน "เหตุการณ์จลาจลขององค์ชายครั้งที่สอง" (제2차 왕자의 난) อีบังกันพ่ายแพ้และถูกกักตัวไว้ที่เขาโทซาน ส่วนอีบังวอนก็กดดันให้พระเจ้าจองจงแต่งตั้งตนเองเป็นรัชทายาท ด้านพระเจ้าจองจงอดทนต่อไปไม่ไหวที่อีบังวอนมีอำนาจเหนือกว่าจึงตัดสินใจสละราชบัลลังก์ให้อีบังวอนขึ้นครองราชย์เป็น ‘พระเจ้าแทจง’ พระราชาลำดับที่สามแห่งราชวงศ์โชซอน
เมื่อขึ้นครองราชย์ พระเจ้าแทจงต้องการพิสูจน์ให้บิดาเห็นว่าตนเองเหมาะสมกับตำแหน่งพระราชา พระองค์วางรากฐานการปกครองอาณาจักรโดยมีแบบแผนมาจากจีน เริ่มด้วยการสำรวจสำมะโนประชากร นำเงินกระดาษมาใช้ ส่งเสริมลัทธิขงจื๊อใหม่ สำรวจที่ดินของบรรดาขุนนางที่มักจะแอบซ่อนเพื่อเลี่ยงภาษี รวมทั้งส่งทูตไปถวายพระพรจักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศหมิงจนอาณาจักรโชซอนได้รับการยอมรับให้เป็นประเทศราชอย่างเป็นทางการ
ในปี 1418 พระเจ้าแทจงสละราชบัลลังก์ให้ "องค์ชายอีโด" โอรสองค์ที่สามขึ้นครองราชย์เป็นพระราชาลำดับที่สี่แห่งราชวงศ์โชซอนพระนามว่า "พระเจ้าเซจงมหาราช" ผู้ที่ในเวลาต่อมาได้ประดิษฐ์อักษรเกาหลีที่เรียกว่า "ฮันกึล" ขึ้นมาใช้แทนอักษร "ฮันจา" (อักษรจีน) และเป็นหนึ่งในสองพระมหากษัตริย์ของเกาหลีที่ได้รับสมัญญาว่าเป็นมหาราชร่วมกับ "พระเจ้าควังแกโทมหาราช" (Gwanggaeto the Great: 광개토대왕) แห่งอาณาจักรโคกูรยอ