ภาพ: The King of Tears, Lee Bang Won |
ผลพวงจากการล้มล้างราชวงศ์มองโกลของ "จูหยวนจาง" นำไปสู่การสถาปนาราชวงศ์หมิงของจีน พระเจ้าคงมินถูกลอบปลงพระชนม์โดยขุนนางที่สนับสนุนมองโกล แต่อีซองกเยเป็นผู้นำในการยึดอำนาจกลับคืนมาได้แล้วตั้ง "พระเจ้าอู" โอรสของพระเจ้าคงมินเป็นพระราชาองค์ที่ 32 แห่งโครยอ
เมื่อราชวงศ์หมิงเริ่มเข้ามาแทรกแซงโครยอ พระเจ้าอูเห็นว่าควรส่งกองทัพรุกรานราชวงศ์หมิงเป็นการต่อต้าน แต่อีซองกเยตระหนักว่าราชวงศ์หมิงมีความแข็งแกร่งกว่า ระหว่างเคลื่อนทัพมาจนถึงแม่น้ำอัมนก (พรมแดนธรรมชาติระหว่างจีนกับเกาหลี) อีซองกเยตัดสินใจหันหลังกลับไปทำรัฐประหาร ปลดพระเจ้าอูลงจากบัลลังก์แล้วตั้ง "พระเจ้าชัง" โอรสของพระเจ้าอูเป็นพระราชาองค์ที่ 33 แห่งโครยอ
ทว่าราชวงศ์หมิงกลับไม่ยอมรับพระเจ้าชังในฐานะกษัตริย์ด้วยเรื่องสายเลือดราชวงศ์ พระเจ้าชังจึงถูกปลดและสำเร็จโทษไปพร้อมกับพระเจ้าอูแล้วตั้ง "พระเจ้าคงยัง" ผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์ที่แท้จริงขึ้นเป็นพระราชาองค์ที่ 34 แห่งโครยอ (และองค์สุดท้าย)
ภายใต้การปกครองของพระเจ้าชังผู้มีสถานะเป็นเพียงพระราชาหุ่นเชิด อีซองกเยเริ่มยึดอำนาจขุนนางที่ยังสนับสนุนมองโกลเดิมจนหมดสิ้น อาศัยแนวคิด "อาณัติสวรรค์" ของราชวงศ์หมิงปลดพระเจ้าคงยังลงแล้วปราบดาภิเษกตนเองเป็นพระเจ้าแทโจแห่งราชวงศ์ใหม่โดยใช้ชื่อว่า "โชซอน" ตามชื่อที่จักรพรรดิจูหยวนจางเลือก
พระจ้าแทโจครองบัลลังก์อย่างมั่นคงโดยมีจองโดชอนเป็นขุนนางคนสำคัญที่คอยให้ความช่วยเหลือ แต่ปัญหาภายในราชวงศ์เกี่ยวกับตำแหน่งรัชทายาททำให้พระเจ้าแทโจเกิดความเหนื่อยหน่ายเมื่อต้องเผชิญความจริงจากการที่โอรสหันหน้ามาฆ่าฟันกันเองในเหตุการณ์จลาจลของเจ้าชาย
พระเจ้าแทโจตัดสินใจสละบัลลังก์ให้ "องค์ชายอีบังกวา" ขึ้นครองราชย์เป็น "พระเจ้าชองจง" ส่วนตนเองไปใช้ชีวิตอย่างสงบในเมืองบ้านเกิด แต่อิทธิพลในราชสำนักของ "องค์ชายอีบังวอน" มีมากเกินไปจนพระเจ้าชองจงต้องยอมสละบัลลังก์ให้อีบังวอนขึ้นครองราชย์เป็น "พระเจ้าแทจง"
แม้พระเจ้าแทจงจะขึ้นครองราชย์แล้ว ทว่าตราราชลัญจกรอันเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจยังอยู่ในการครอบครองของอดีตพระเจ้าแทโจผู้เป็นพระราชบิดา พระเจ้าแทจงใช้ความพยายามอยู่นานในการขอเข้าเฝ้าพระราชบิดาเพื่อรับตราราชลัญจกร กระทั่งได้รับโอกาสเข้าเฝ้า กล่าวกันว่าในครานั้นอดีตพระเจ้าแทโจถึงกับขว้างตราราชลัญจกรใส่พระพักตร์ของพระเจ้าแทจงด้วยความเดือดดาล
ในช่วงบั้นปลายชีวิต อดีตพระเจ้าแทโจเสด็จกลับมาประทับยังพระราชวังคยองบกในเมืองหลวงตามคำขอร้องของภิกษุซึ่งเป็นสหายสนิท พระองค์ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายกระทั่งสวรรคตในปี 1408 พระศพของพระเจ้าแทโจถูกฝังอยู่ที่สุสานคังวอนนึงในสุสานหลวงราชวงศ์โชซอน