China |
เดิมวัดกวงเสี้ยวเป็นที่ประทับของจ้าวเจี้ยนเต๋อ (Zhao Jiande) กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรหนานเยว่ ต่อมาในยุคสามก๊กเป็นที่พำนักของขุนนางอวี๋ฟาน (Yu Fan) ภายหลังอวี๋ฟานเสียชีวิตในปี 223 ครอบครัวของท่านได้บริจาคที่ดินเพื่อสร้างเป็นวัดชื่อว่า "วัดจื้อจื่อ" (Zhizhi Temple: 制止寺) จากนั้นมีการเปลี่ยนชื่อวัดอีกหลายครั้งหลายคราจนมาลงเอยด้วยชื่อ "วัดกวงเสี้ยว" ในสมัยจักรพรรดิเฉิงฮว่าแห่งราชวงศ์หมิง
ในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 4 - 10 วัดกวงเสี้ยวกลายเป็นจุดแวะพักของนักบวชจากเอเชียใต้ (ส่วนใหญ่มาจากอินเดีย) ที่เดินทางมาเพื่อจาริกแสวงบุญและเผยแพร่พุทธศาสนาซึ่งถือเป็นช่วงที่วัดรุ่งเรืองถึงขีดสุด สถาปัตยกรรมในวัดได้รับการดูแลรักษาอย่างดีในฐานะโบราณสถานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์
วิหารมหาวีระสร้างเมื่อปี 401 สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออกโดยมีการขยายต่อเติมในอีกหลายราชวงศ์ วิหารมีความกว้าง 24.8 เมตร ยาว 35.36 เมตร และลึก 13.6 เมตร ว่ากันว่ายิ่งใหญ่อลังการและงดงามที่สุดในบรรดาวิหารทางตอนใต้ของจีน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปพระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ และพระศรีอริยเมตไตรย
บริเวณด้านหลังวิหารมหาวีระมีต้นโพธิ์ใหญ่ เมื่อปี 676 เจ้าอาวาสของวัดได้ฝังเส้นผมของ "พระฮุ่ยเหนิง" (สังฆปรินายกองค์ที่ 6 ในนิกานเซน) ที่ปลงเพื่ออุปสมบทเอาไว้ใต้ต้นโพธิ์นี้และมีการสร้างเจดีย์เจ็ดชั้นทรงแปดเหลี่ยมสูง 7.8 เมตร เอาไว้เป็นอนุสรณ์สถาน
หอตะวันออกและหอตะวันตกด้านหลังวัดเป็นเจดีย์เหล็กที่เก่าแก่ที่สุดของจีน หอตะวันตกสร้างเมื่อปี 963 เดิมมีเจ็ดชั้น แต่ปัจจุบันเหลือเพียงสามชั้น ส่วนหอตะวันออกสร้างเมื่อปี 967 สภาพค่อนข้างสมบูรณ์กว่า มีพระพุทธรูปขนาดเล็กสลักล้อมรอบอยู่ด้านนอกองค์เจดีย์