จักรพรรดิเฉียนหลง (Qianlong Emperor: 乾隆帝) จักรพรรดิลำดับที่ 6 แห่งราชวงศ์ชิงผู้นำพาประเทศเข้าสู่ยุคที่บ้านเมืองเจริญสูงสุดนับตั้งแต่เผ่าแมนจูเข้ามาปกครอง จักรพรรดิเฉียนหลงเป็นองค์ชายสี่ในจักรพรรดิหย่งเจิ้งและจักรพรรดินีเสี้ยวเชิ่งเซี่ยน พระนามเดิม "หงลี่ " (Longli: 弘曆) ประสูติเมื่อ 25 กันยายน 1711 ขึ้นครองราชย์ในปี 1735
องค์ชายหงลี่เป็นเด็กที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียนแถมยังฉลาดรอบรู้จึงทำให้เป็นที่โปรดปราณของจักรพรรดิคังซี (พระอัยกา) ยิ่งนักถึงขนาดมีการเล่าลือกันว่าองค์ชายอิ้นเจิน (จักรพรรดิหย่งเจิ้ง) ได้รับเลือกเป็นรัชทายาทของคังซีก็เพราะองค์ชายหงลี่นี่เอง แถมเสด็จปู่ยังให้เลือกให้อิ้นเจินแต่งตั้งหงลี่เป็นรัชทายาทต่อด้วย
ในบรรดาองค์ชายทั้งหมดของจักรพรรดิหย่งเจิ้งนั้นถือได้ว่าหงลี่มีความสามารถโดดเด่นที่สุดเรียกว่าครบเครื่องทั้งบุ๋นบู๊ แต่การจะก้าวขึ้นบัลลังก์ก็ต้องแข่งขันกับองค์ชายสาม "หงสือ" (พระเชษฐา) รวมทั้ง "อ๋องอวิ้นซื่อ" (องค์ชายแปดในจักรพรรดิคังซี) ที่ยังคงหมายปองบัลลังก์หลังจากเคยผิดหวังมาแล้ว
การสวรรคตอย่างกะทันหันของจักรพรรดิหย่งเจิ้งทำให้หงลี่ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิเฉียนหลงในวัย 25 พร้อมกับนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่แผ่นดิน พระองค์เปิดกว้างยอมรับและเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวฮั่นมากขึ้นจึงได้รับการยอมรับจากราษฎร ขณะเดียวกันก็ยังคงมาตรการกำจัดกลุ่มที่คิดล้มล้างราชวงศ์เช่นกัน
จักรพรรดิเฉียนหลงไม่ต้องการครองราชย์ยาวนานกว่าเสด็จปู่ ในวันที่ 9 มกราคม 1796 พระองค์จึงสละราชบัลลังก์ให้แก่ "หยงเหยียน" (องค์ชาย 15 ) ขึ้นเป็นจักรพรรดิเจียชิ่งพร้อมกับเลื่อนยศพระองค์เป็นพระบิดาหลวงโดยยังคงมีอำนาจอยู่ในมือ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 1799 ทำให้จักรพรรดิเจียชิ่งได้ครองอำนาจอย่างแท้จริง
มีตำนานที่เล่าลือกันในหมู่ชาวบ้านร้านตลาดในประเด็นที่ว่าองค์ชายหงลี่ไม่ใช่โอรสที่แท้จริงของจักรพรรดิหย่งเจิ้งโดยมีการนำมาดัดแปลงเป็นผลงานวรรณกรรม กล่าวกันว่าหงลี่เป็นบุตรชายอำมาตย์ที่ถูกหย่งเจิ้งสลับตัวกับธิดาของตัวเองตั้งแต่ยังเป็นทารกซึ่งความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
แม้เฉียนหลงจะได้ชื่อว่าเป็นจักรพรรดิที่ทรงพระปรีชาสามารถแต่การไว้ใจขุนนางกังฉินคนสนิทนาม "เหอเซิน" จนไม่ลืมหูลืมตาจึงทำให้เฉียนหลงมักจะออกนอกลู่นอกทางตามคำยุยงเสมอ เฉียนหลงถึงกับยกองค์หญิงให้อภิเษกกับลูกชายของ เหอเซินเพื่อตอบแทนการประจบสอพลอ
เหอเซินได้สร้างอิทธิพลไปทั่วแผ่นดินจนร่ำรวยมหาศาลเรียกว่ารวยล้นฟ้าในยุคนั้น กระบวนการปกครองของเหล่าขุนนางแทบจะพังลงไม่เป็นท่า เมื่อสิ้นยุคสมัยเฉียนหลงจักรพรรดิเจี่ยชิ่งซึ่งขึ้นครองราชย์ต่อจึงได้สะสางจุดด่างพร้อยนี้ทันทีด้วยการกำจัดเหอเซินทิ้งแบบถอนรากถอนโคน